วัดพระธาตุหริภุญชัยวรวิหาร

‘ลำพูน’ บ้านพี่เมืองน้องของเชียงใหม่ เป็นจังหวัดเล็กๆ แต่มีสถานที่หนึ่งที่ไม่เล็กเลย สถานที่นั้นชื่อ ‘วัดพระธาตุหริภุญชัยวรวิหาร’ ศาสนสถานสำคัญที่เมื่อมีโอกาสได้ไปเยือนลำพูนแล้วไม่ควรจะพลาดด้วยประการทั้งปวง‘วัดพระธาตุหริภุญชัยวรวิหาร’ คือ วัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำพูน แต่เดิมเป็นพระราชวังของพระเจ้าอทิตยราช กษัตริย์ผู้ครองนครหริภุญชัย องค์ที่ 33 ต่อจาก พระนางจามเทวี ปฐมบรมกษัตริย์ของนครหริภุญชัย
ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัยวรวิหารมีสิ่งที่น่าสนใจและให้ความรู้ดังนี้
– พระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นเจดีย์แบบทรงล้านนาแท้ ภายในบรรจุพระเกศบรมธาตุที่บรรจุอยู่ในโกศทองคำ
และประดิษฐานในพระเจดีย์อันประกอบด้วยฐานปัทม์ แบบฐานบัวลูกแก้ว ย่อเก็จ ต่อลงมาจากฐานบัวลูกแก้วเป็นฐานเขียงกลมสามชั้น ตั้งรับองค์ระฆังกลม บัลลังก์ย่อเหลี่ยม โดยพระเจดีย์มีลักษณะใกล้เคียงกับพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ พระเจดีย์องค์นี้มีความสูง 25 วา 2 ศอก ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก 1 คืบ มีสัตติ-บัญชร หรือ รั้วเหล็กและทองเหลือง 2 ชั้น ล้อมรอบ มีสำเภาทองประดิษฐานอยู่ประจำรั้วชั้นนอกทั้งทิศเหนือและทิศใต้ แล้วยังมีซุ้มภุมภัณฑ์และฉัตรประจำทั้งสี่มุม รวมถึงหอคอยประจำทุกด้านรวม 4 หอ ซึ่งทุกหอบรรจุพระพุทธรูปนั่ง พระบรมธาตุนี้ถือเป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์และสำคัญ ซึ่งในวันเพ็ญ เดือน 6 จะมีงานนมัสการและสรงน้ำพระบรมธาตุเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ พระบรมธาตุหริภุญชัยยังเป็นพระธาตุประจำปีระกาอีกด้วย
– ซุ้มประตู คือส่วนหน้าก่อนที่จะเข้าไปสู่บริเวณวัด ซึ่งซุ้มประตูเป็นการก่ออิฐถือปูนประดับลวดลายวิจิตอันเป็น
ฝีมือของช่างโบราณสมัยศรีวิชัยที่ประกอบไปด้วยซุ้มยอดเป็นชั้นๆ เบื้องหน้าซุ้มประตูบนแท่นสูงประมาณ 1 เมตร มีสิงห์หนึ่งคู่ยืนสง่าอยู่ โดยสิงห์คู่นี้ได้ถูกปั้นขึ้นในสมัยพระเจ้าอทิตยราช
– วิหารหลวง หลังจากเดินผ่านซุ้มประตูก็จะเห็น ‘วิหารหลวง’ ซึ่งเป็นวิหารหลังใหญ่มีพระระเบียงรอบด้านและมี
มุขออกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง วิหารหลังนี้ได้สร้างขึ้นแทนวิหารหลังเก่าที่ถูกพายุพัดพังทลายในปี พ.ศ.2458 ทั้งนี้วิหารหลวงเป็นที่สำหรับบำเพ็ญกุศลและประกอบศาสนกิจในทุกวันพระ ภายในวิหารประดิษฐานพระแก้วขาว พระเสตังคมณีศรีเมืองหริภุญชัย ประทับนั่งอยู่เหนือบุษบกที่แกะสลักลงรักปิดทองอย่างงดงาม
– วิหารพระละโว้ ตัววิหารเป็นการสร้างใหม่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปทรงยืนองค์ใหญ่ ซึ่งเรียกว่า พระละโว้
– วิหารพระพุทธ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยองค์ใหญ่ ลงรักปิดทอง ซึ่งเรียกว่า พระ
พุทธ
– วิหารพระทันใจ ภายในประดิษฐานพระทันใด ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงยืน โดยถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่
สามารถบันดาลให้ผู้ที่กราบไหว้ได้สมหวังตามที่ขอ
– วิหารพระพันตน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปจำนวนมากนับพันองค์
– วิหารพระบาทสี่ร้อย ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทที่จำลองมาจากอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่
– วิหารพระไสยาสน์ ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์แบบก่ออิฐถือปูนและลงรักปิดทอง
– วิหารพระกลักเกลือหรือพระเจ้าแดง ภายประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยแบบก่ออิฐถือปูน
องค์ใหญ่ทาด้วยสีแดง
– สุวรรณเจดีย์หรือปทุมวดีเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะแบบเดียวกับเจดีย์สี่เหลี่ยมหรือเจดีย์กู่กุดที่วัดจามเทวี
องค์เจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงและอิฐ ทรงปราสาทมีฐานสี่เหลี่ยมซ้อนขึ้นไปห้าชั้น ในแต่ละชั้นจะประดับซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 3 ซุ้ม ซึ่งภายในซุ้มจะประดิษฐานพระพุทธรูปดินเผาประทับยืน ส่วนบนสุดของเจดีย์เป็นกลีบบัวปูนปั้นหุ้มด้วยโลหะแผ่น ส่วนปลายยอดสุดเป็นกรวยแหลมเรียวยาวขึ้นไป ณ สุวรรณเจดีย์แห่งนี้มีพระเปิม พระพิมพ์ที่สำคัญและมีชื่อเสียงของลำพูนบรรจุอยู่ภายใน
– หอระฆัง เป็นหอสำหรับแขวนระฆังและกังสดาลขนาดใหญ่ สร้างโดย พระครูพิทักษ์เจติยานุกิจ หรือ ครูบาคำฟู
เมื่อปี พ.ศ.2481 ด้านบนแขวนระฆังขนาดใหญ่ที่หล่อขึ้นในสมัยเจ้าหลวงดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์ที่ 7 ส่วนชั้นล่างห้อยกังสดาลขนาดใหญ่ที่หล่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2403 ซึ่งเป็นฝีมือครูบาสูงเม่นโดยกัญจนมหาเถระ เจ้าอาวาสวัดป่าเมืองแพร่และเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ผู้เป็นศรัทธาหล่อกังสดาลนี้ ณ วัดพระสิงห์วรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นเครื่องบูชาพระธาตุหริภุญชัย
– หอไตรหรือหอธรรม เป็นสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์พระไตรปิฎก ครบทั้ง 85,000 พระธรรมขันธ์ พร้อมทั้งอรรกถา
ฎีกาและอนุฎีกา รวมทั้งสิ้น 420 พระคัมภีร์ โดยเป็นพระคัมภีร์ใบลานทั้งหมด
– เจดีย์เชียงยันหรือเจดีย์เชียงยืน สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าอทิตยราช ซึ่งเจดีย์องค์ปัจจุบันได้รับการ
ปฏิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้าติโลกราช แล้วกรมศิลปากรก็ได้ทำการบูรณะองค์พระเจดีย์ใหม่ด้วยสถาปัตยกรรมตรงส่วนฐานล่างเจดีย์เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนขึ้นไปสี่ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัวคว่ำและเป็นบัวถลาในส่วนรองรับฐานสูง เหนือขึ้นไปเป็นเรือนธาตุ ตัวเรือนธาตุทั้งสี่ด้านทำเป็นซุ้มจระนำ
– เขาพระสุเมรุจำลอง มีลักษณะคล้ายกับพระเจดีย์ขนาดเล็กทรงกลม ก่อด้วยอิฐถือปูน ส่วนยอดทำลดหลั่นขึ้น
ไปเจ็ดชั้นมีการประดับสำริดหล่อเป็นชั้นๆ แล้วนำมาประกอบเป็นทรงกลมภายหลัง ส่วนฐานที่รองรับยอดปราสาทด้านบนสุดคือ สัตตบริภัณฑ์หรือภูเขาที่ล้อมรอบพระสุเมรุทั้งเจ็ดชั้น มีเกษียรสมุทรคั่นระหว่างเขาแต่ละชั้น
ความงดงามพร้อมความขลังจะประจักษ์ หากคุณได้ไปเห็นด้วยตาและสักการะด้วยตนเองนะคะ